ข้อมูลต่าง ๆ ที่น่าสนใจ
ทัวร์วันเดียว
ทัวร์พักในเมือง 2 วัน 1 คืน
ทัวร์พักเกาะ 2 วัน 1 คืน
ทัวร์แบบเที่ยวครบโปรแกรม
ทัวร์ พักเกาะ 3 วัน 2 คืน พักผ่อนแบบชิวๆ
โปรแกรมทัวร์อื่นๆ
บริการจัดซื้อตั๋วเครื่องบิน
บริการรถเช่า และ รับส่งสนามบิน

ข้อมูลจังหวัดตรัง

ลักษณะและสภาพโดยทั่วไป

การปกครอง จังหวัดตรังแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 10 อำเภอ คือ

รวมพื้นที่ 4,917 ตารางกิโลเมตร

อาณาเขตติดต่อ

ทิศเหนือ - ติดต่อกับ อ.ทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช และอ.คลองท่อม จังหวัดกระบี่
ทิศใต้ - ติดต่อกับ อ.ทุ่งหว้า จังหวัดสตูล อ.รัตภูมิ จังหวัดสงขลา และช่องแคบมะละกาสมุทรอินเดีย
ทิศตะวันออก - ติดต่อกับ อ.ควนขนุน อ.กงหรา อ.ตะโหมด จังหวัดพัทลุง โดยมีเทือกเขาบรรทัดกั้นอาณาเขตตลอดแนว
ทิศตะวันตก - ติดต่อกับ อ.คลองท่อม อ.เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ และมหาสมุทรอินเดีย

ลักษณะภูมิประเทศ

สภาพพื้นที่เป็นเนินสูงๆ ต่ำๆ สลับด้วยเขาเล็กๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป พื้นที่ค่อนข้างราบเรียบมีจำนวนน้อยซึ่งใช้เพาะปลูกข้าว ทางทิศตะวันออกมีเทือกเขาบรรทัดยาวจากเหนือจดตอนใต้ และเป็นเส้นแบ่งเขตแดนจังหวัดตรังกับจังหวัดพัทลุง มีเนื้อที่ป่าเกือบร้อยละ 20 ของเนื้อที่จังหวัดส่วนใหญ่เป็นพื้นที่แถบเทือกเขาบรรทัด ลักษณะดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย สภาพป่าเป็นป่าดิบชื้น มีป่าชายเลนสำหรับท้องที่ที่อยู่ติดชายทะเล และมีลำน้ำสำคัญๆ 3 สาย อันได้แก่ แม่น้ำตรัง ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเขาวังหีบ เทือกเขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช แม่น้ำปะเหลียน เกิดจากเทือกเขาบรรทัด เขตอำเภอปะเหลียน คลองกะลาแสและต้นน้ำ ที่เกิดจากควนปลวกร้อน ควนชะไน และควนน้ำแดง ชายแดนตรัง กระบี่ นอกจากนี้ยังมีลำห้วยบริวารที่คอยส่งน้ำให้อีกกว่า 100 สาย ทั้งยังมีชายฝั่งด้านตะวันตก ติดทะเลอันดามันที่ยาวถึง 119 กม. กับเกาะต่างๆ กระจัดกระจาย อยู่กว่า 46 เกาะ และป่าชายเลนที่ยังคงอยู่ในสภาพที่อุดมสมบูรณ์

สภาพภูมิอากาศ

จังหวัดตรังได้รับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือช่วงเดือนตุลาคม-มกราคม และลมมรสุม ตะวันตกเฉียงใต้ช่วง เดือนพฤษภาคม-กันยายนทำให้มีฝนตกตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 27.4 องศาเซลเซียส ส่วนช่วงเวลาที่อากาศเย็นสบาย จะอยู่ประมาณปลาย เดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนธันวาคม

ทรัพยากรธรรมชาติ

ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของจังหวัดตรัง แร่ธาตุที่สำคัญ ได้แก่ ดีบุก ฟลูออไรท์ และถ่านหินลิกไนท์ สำหรับทรัพยากรป่าไม้ที่สำคัญๆ เช่น เคี่ยม ยาง ตะเคียน หลุดพอ สามพอน ดำดง ตำเสา และตาเสือ เป็นต้น ทางด้านป่าชายเลนมีไม้โกงกาง ตะบูน ตาตุ่ม ปะสัก หลุดพอทะเล ฯลฯ นอกจากนี้ทางด้านชายฝั่งทะเลยังอุดมไปด้วยสัตว์ทะเลนานาชนิด และยังมีแหล่งรังนกนางแอ่นในท้องที่อำเภอสิเกา ซึ่งได้มีเอกชนขอสัมปทานเก็บในแต่ละปี

การประกอบอาชีพ

ชาวตรังส่วนใหญ่มีอาชีพในการเกษตร การเกษตรที่สำคัญของชาวจังหวัดตรังคือการทำสวนยางพารา ส่วนอาชีพในการเพาะปลูกอื่นๆ รองลงไปคือการทำนา ทำสวนมะพร้าว สวนผลไม้ เช่น เงาะ ทุเรียน กาแฟ และในบางท้องที่ทำสวนพริกไทย สำหรับประชาชนที่อยู่แถบชายฝั่งทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดียมีอาชีพการประมง

การศึกษา

ประชาชนในจังหวัดส่วน ใหญ่มีการศึกษาระดับประถมศึกษา แต่ในปัจจุบันประชาชนได้มองเห็นความสำคัญในด้านการศึกษามากขึ้น โดยการส่งเสริมให้บุตรหลานของตนได้มีการศึกษาต่อในระดับมัธยม ทั้งสายสามัญและสายอาชีพ ตลอดจนถึงขั้นอุดมศึกษา และปรากฎว่าสถาบันการศึกษาตั้งแต่ชั้นมัธยมขึ้นไปมีที่เรียนไม่เพียงพอกับ ความต้องการของนักเรียนนักศึกษาในจังหวัด ทั่งๆ ที่ทางฝ่ายการศึกษาได้พยายามเพิ่มโรงเรียนและชั้นเรียนเพิ่มขึ้นๆ ในทุกๆ ปี และการที่มีที่เรียนไม่เพียงพอเป็นสาเหตุให้นักเรียนนักศึกษาส่วนหนึ่งต้อง ไปแสวงหาที่เรียนในจังหวัดอื่น และโดยเฉพาะที่กรุงเทพมหานคร

ศาสนา

ประชาชนในจังหวัดส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ รองลงมาคือศาสนาอิสลาม และมีศาสนาและลัทธิอื่นๆ บ้าง เช่น ศาสนาคริสต์

การอพยพของประชากร

จากสภาพภูมิประเทศที่ เอื้ออำนวยและทรัพยากรอันสมบูรณ์ของจังหวัด ทำให้ชาวจังหวัดตรังโดยทั่วๆ ไปมีฐานะความเป็นอยู่ดี ฉะนั้นปัญหาอพยพของประชากรในจังหวัดเพื่อไปหางานทำในท้องถิ่นอื่นจึงไม่มี แต่ในทางตรงข้าม ปรากฎว่าประชาชนจากท้องถิ่นอื่น เช่น จากจังหวัดใกล้เคียง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนจากจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อพยพเข้ามาหางานทำมีจำนวนมาก โดยการเป็นลูกจ้างในสวนยาง ลูกเรือประมง ลูกจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม และอาชีพรับจ้างบริการทั่วไป ดังนั้นจังหวัดตรังจึงมีประชากรย้ายเข้ามามากกว่าการย้ายออก

 

การเดินทางมาจังหวัดตรัง

ตรังอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 828 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดตรังได้หลายวิธี ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง รถไฟ และเครื่องบิน

โดยรถไฟ

มีรถไฟออกจากสถานีหัวลำโพงไปถึงสถานีตรังทุกวัน สอบถามรายละเอียดได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690 www.railway.co.th

โดยรถยนต์

จากกรุงเทพฯ ไปตรังได้ 2 เส้นทาง คือ

  1. ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ผ่านจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร จากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านสุราษฎร์ธานี ทุ่งสง แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 403 สู่อำเภอห้วยยอด จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4 ไปจนถึงตรัง ระยะทางประมาณ 828 กิโลเมตร
  2. ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) จนถึงจังหวัดชุมพร แล้วแยกเข้าระนอง พังงา กระบี่ ตรัง ระยะทางประมาณ 1,020 กิโลเมตร

โดยรถประจำทาง

มีรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน สายกรุงเทพฯ-ตรัง ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 12 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th ทรัพย์ไพศาลทัวร์ โทร. 0 2884 9584 , 0 2884 9584
ปัจจุบันบริษัท ขนส่ง จำกัด ได้เปิดให้บริการจองตั๋วรถโดยสารออนไลน์แล้ว ติดต่อได้ที่ www.thaiticketmajor.com นอกจากนี้ยังสามารถซื้อตั๋วออนไลน์ได้ที่ไทยรูท ดอทคอม www.thairoute.com

โดยเครื่องบิน

สายการบินที่ให้บริการเส้นทางกรุงเทพฯ-ตรัง คือ นกแอร์ โทร. 1318, 0 2900 9955, 0 2900 9955
www.airasia.com แอร์เอเชีย โทร.02-5159999 02-5159999

การเดินทางภายในตรัง

ในตัวเมืองตรังมีรถโดยสารประจำทางไปยังอำเภอต่างๆ ได้อย่างสะดวก นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะได้หลายรูปแบบ ทั้งรถตุ๊กตุ๊กหน้ากบ รถสองแถว รถโดยสารประจำทาง ฯลฯ สอบถามรายละเอียดได้ที่สถานีขนส่งตรัง โทร. 0 7521 5718 0 7521 5718
นอกจากเส้นทางบนบก การเดินทางทางเรือก็เป็นอีกเส้นทางสำคัญสำหรับการท่องเที่ยว เพราะตรังเป็นเสมือนศูนย์กลางเดินทางไปท่องเที่ยวในหมู่เกาะต่างๆ ทั้งในพื้นที่จังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ ซึ่งมีน่านน้ำต่อเนื่องกัน หลายท่าเรือของตรังมีเรือโดยสารให้บริการไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เช่น ท่าเรือปากเมง ท่าเรือหาดยาว เป็นต้น

ระยะทางจากอำเภอเมืองตรังไปยังอำเภอต่างๆ คือ

 

เทศกาลงานประเพณี

งานเทศกาลขนมเค้ก

ชาวตรังมีชื่อเสียงในการทำขนมเค้กมาช้านาน โดยเฉพาะที่บ้านลำภูรา เป็นแหล่งผลิตขนมเค้กมาแต่ดั้งเดิม เอกลักษณ์ของขนมเค้กของชาวตรังจะไม่ใช้ครีมตกแต่งหน้าเค้ก ขนมเค้กมีหลายรส เช่น รสส้ม รสกาแฟ รสสามรส รสใบเตย รสเนย งานเทศกาลขนมเค้กจัดเป็นประจำทุกปี ช่วงเดือนสิงหาคม บริเวณถนนสถานี

งานเทศกาลหมูย่าง

เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดตรัง ช่วงเดือนกันยายนของทุกปี ภายในงานมีหมูย่างสูตรพิเศษของเมืองตรังจากร้านต่างๆ ในจังหวัด งานจัดบริเวณสี่แยกธรรมรินทร์ ถนนสถานี

งานประเพณีไหว้พระจันทร์

เป็นงานประเพณีที่ชาวจีนในตำบลทุ่งยาว อำเภอปะเหลียน ปฎิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน เพื่อรำลึกถึงการกู้ชาติจากพวกมองโกล โดยยึดเอาวันเพ็ญเดือน 8 (ตามปฎิทินจีน) ประมาณปลายเดือนกันยายนหรือต้นเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวันจัดงาน

งานเทศกาลกินเจ

เป็นงานประเพณีดั้งเดิมของชาวจีนในจังหวัดตรัง จะมีขึ้นในวันขึ้น 1-9 ค่ำ เดือน 9 ของปฎิทินจีน (ประมาณเดือนตุลาคม) โดยถือเอาวันขึ้น 6 ค่ำ เป็นวันสำคัญที่สุดของงาน ในงานจะจัดขบวนแห่เจ้าอย่างมโหฬารไปรอบๆ เมือง มีพิธีไหว้เจ้าและลุยไฟ ชาวจีนจะนุ่งขาวห่มขาวไปถือศีลกินเจตามศาลเจ้าต่างๆ เป็นเวลา 9 วัน

งานเปิดฟ้าทะเลตรัง

เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของจังหวัดตรัง ในช่วงเปิดฤดูกาลท่องเที่ยว งานจะจัดในสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี

งานเทศกาลหอยตะเภา

เป็นเทศกาลที่มุ่งส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม งานจัดบริเวณชายหาดปากเมง ช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี

งานวิวาห์ใต้สมุทร

กิจกรรมที่สำคัญในงานที่แปลกที่สุดในโลก ได้แก่ พิธีต้อนรับคู่บ่าวสาว (ชาวไทยและต่างประเทศ) ณ สนามบินตรัง ขบวนแห่คู่บ่าวสาวรอบตัวเมืองตรัง ต่อจากนั้นก็แห่ขันหมากด้วยเรือหางยาวไปยังเกาะกระดานแล้วดำน้ำลงไปทำพิธีรด สังข์และจดทะเบียนสมรสใต้ท้องทะเลลึกกว่า 40 ฟุต

มโนราห์หรือโนรา

ศิลปะการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้ เป็นการแสดงที่มีท่ารำอ่อนช้อย สวยงาม บทร้องเป็นกลอนสด

หนังตะลุง

ศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่นิยมกันมากทั่วภาคใต้ ใช้หนังสัตว์แกะเป็นรูปตัวละคร ตัวแสดงต่างๆ เช่น ฤาษี เจ้าเมือง ตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์และตัวตลก เป็นต้น นำรูปหนังเชิดหลังจอผ่านแสงไฟส่องทำให้เกิดภาพสีและเงาปรากฎบนจอ นายหนังหรือผู้เชิดหนังตะลุง จะเป็นผู้ขับกลอนหรือพากษ์ไปด้วย จะเป็นผู้ที่มีไหวพริบเป็นเลิศและจะพากษ์คนเดียวตลอดเรื่อง เครื่องดนตรีเช่นเดียวกับมโนราห์ อาจเพิ่มซออู้ หรือซอด้วงไปด้วย

ลิเกป่า

ลิเก บกหรือลิเกรำมะนาต่างจาก ลิเกโรงทั่วไป เพราะจะแต่งกายด้วยชุดธรรมดาไม่ใช่ชุดลิเก นิยมเล่นในหมู่ชาวไทยอิสลาม ใช้ผู้แสดง 3 คนในฉากเดียวตลอดเรื่อง เปลี่ยนแปลงเฉพาะชื่อสถานที่ตามที่ๆ ไปแสดงเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศนั้น ๆ เครื่องดนตรีจะมีรำมะนาด 2-3 ใบ ฉิ่ง โหม่ง ฆ้อง ปี่ชวา

 

สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดตรัง

"เกาะกระดาน"

เป็นเกาะที่สวยที่สุดของทะเลตรัง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเกาะแห่งความรัก เทศกาลวันวาเลนไทม์ของทุกปี จะมีการจัดงานวิวาห์ใต้สมุทรที่เกาะแห่งนี้ เกาะกระดานอยู่ทางด้านตะวันตกของเกาะมุกและเกาะลิบง มีเนื้อที่ 600 ไร่ ซึ่ง 5 ใน 6 ส่วนของเกาะนี้อยู่ในความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ที่เหลือเป็นของเอกชน เกาะกระดานมีชายหาดที่มีทรายขาวละเอียดและน้ำทะเลใสจนมองเห็นแนวปะการังซึ่ง เป็นปะการังน้ำตื้น ตลอดจนฝูงปลาหลากสีหลายพันธุ์ บนเกาะมีที่พักบริการทั้งของเอกชน และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช

"เกาะมุกด์(ถ้ำมรกต)"

นับเป็นจุดเด่นที่สุดในทะเลตรัง ลักษณะของเกาะทางด้านทิศตะวันตกส่วนใหญ่เป็นโขดหน้าผาหินสูงตระหง่านหันหน้า ออกสู่ทะเล ทางฝั่งตะวันออกเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวประมง ที่ยังคงวิถีชีวิตของชาวเกาะไว้อย่างดี สามารถเดินเที่ยวรอบเกาะได้ และทางด้านทิศตะวันตกของกเกาะมุก มีถ้ำมรกตหรือถ้ำทะเลซึ่งมีความงดงามตระการตาอย่างมาก จากปากทางเข้าถ้ำเป็นโพรงเล็กๆ การเข้าชมภายในถ้ำ จะต้องว่ายน้ำลอยคอเข้าไป ระยะทาง 80 เมตร บริเวณปากทางเข้าถ้ำแสงจากภายนอกจะสะท้อนกับน้ำภายในถ้ำทำให้เห็นน้ำเป็นสี เขียวมรกต ดูแปลกตาและมหัศจรรย์ในความสวยงามที่ธรรมชาติได้บรรจงสร้าง เมื่อพ้นปากถ้ำออกมาอีกด้านหนึ่งจะเห็นหาดทรายขาวสะอาดล้อมรอบด้วยหน้าผาสูง ชัน นั่งเล่นน้ำได้ เกาะมุกมีที่พักเอกชนบริการ

"ถ้ำมรกต"

เป็นถ้ำน้ำทะเลที่มีความงดงามตระการตาอย่างมาก จากปากทางเข้าถ้ำซึ่งเป็นโพรงเล็ก ๆ จะเข้าออกได้เฉพาะช่วงน้ำลงเท่านั้น ปากถ้ำเป็นโพรงเล็ก ๆ การเข้าออกจะต้องลอยคอในน้ำ ลอดถ้ำอันมืดมิดผ่านเส้นทางคดโค้ง ระยะทางจากปากถ้ำเข้าไปประมาณ 80 เมตร เข้าแถวเรียงหนึ่งตามคนนำทาง จับคนข้างหน้าไว้ให้มั่น ไม่งั้นอาจหลงทางได้ เมื่อพ้นปากถ้ำออกมาอีกด้านหนึ่งจะเป็นหายทรายขาดสะอาด น้ำใสน่าเล่น ล้อมรอบด้วยหน้าผาสูงชัน ที่มีท้องฟ้าเป็นหลังคา และผนังแต่งแต้มด้วยลายเขียวของใบไม้ โพรงที่ลอดเข้า ถ้ำมรกต จะอยู่ทางถ้ำด้านทิศตะวันตกของตัวเกาะ ยาวแสงอาทิตย์ทำมุมพอเหมาะ ทั้งเกาะและเวิ้งถ้ำก็พลันกลายเป็นสีเขียวมรกตงดงาม ประหนึ่งจิตรกรรมแห่งธรรมชาติ ที่ได้บรรจงสร้างให้มวลมนุษย์ได้ชื่นชม

"เกาะเหลาเหลียง"

อยู่ในท้องที่อำเภอปะเหลียน ห่างจากแหลมตะเสะ จังหวัดตรัง ประมาณ 18 กิโลเมตร สามารถลงเรือได้จากอำเภอปะเหลียนหรือที่อำเภอกันตังก็ได้ทั้งสองทาง ใช้เวลาเดินทางโดยเรือประมาณ 1 ชั่วโมง 40 นาที หาดทรายของเกาะหันหน้าสู่ด้านตะวันออก ตามหน้าหาดจะมีปะการังน้ำตื้นบางส่วนโผล่พ้นน้ำขึ้นมาอวดความงามยามเมื่อน้ำ ลง ด้วยเหตุที่เกาะเหล่านี้อยู่ใกล้ปากอ่าว จึงได้รับอิทธิพลของตะกอนจากปากน้ำกันตังและปะเหลียน ทำให้น้ำทะเลไม่ใสนัก ไม่เหมาะสำหรับการดำน้ำ คงมีแต่เพียงการเดินเล่นชายหาด ถ่ายรูป ชมปะการังน้ำตื้น

"เกาะสุกร"

เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอปะเหลียน เป็นเกาะขนาดใหญ่อยู่ห่างชายฝั่งเพียง 3 กิโลเมตร บนเกาะมีชาวบ้านอาศัยอยู่กว่า 2,500 คน มีอาชีพประมง ทำสวนยาง และเกษตรกรรม ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม บนเกาะยังมีผลไม้ที่มีชื่อเสียงคือแตงโม ซึ่งรู้จักกันดีในจังหวัดตรังและใกล้เคียงว่ามีรสหวานอร่อย จะมีมากในช่วงเดือนมีนาคม ถึงเดือนเมษายน บนเกาะมีรีสอร์ทบริการหลายแห่งให้นักท่องเที่ยวได้พักค้างแรม และหากต้องการนั่งเรือท่องเที่ยวไปตามเกาะในจังหวัดตรังก็สามารถจะเช่าเรือ จากท่าเรือบนเกาะได้อีกด้วย การเดินทาง สามารถนั่งรถตู้สายตรัง-ย่านตาขาว ลงที่ตลาดย่านตาขาว แล้วต่อรถสองแถวสายย่านตาขาว-ปากปรน-แหลมตะเสะ ระยะทาง 47 กิโลเมตร ถึงท่าเรือแหลมตะเสะ หรือใช้เส้นทางตรัง-ปะเหลียน(หลวงหมายเลข 404) เลี้ยวขวาสี่แยกบ้านนาประมาณ 18 กิโลเมตร และเลี้ยวซ้ายประมาณ 7 กิโลเมตร ถึงท่าเรือ ใช้เวลาเดินทางด้วยเรือหางยาวประมาณ 20 นาที บนเกาะมีที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว

"เกาะลิบง"

มีชาวบ้านอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากแบ่งเป็นหลายหมู่บ้าน ชาวบ้านยังดำเนินวิถีชีวิตแบบเรียบง่ายทำอาชีพประมง สวนยางพารา ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม นอกจากนั้นบนเกาะยังมีเขามุกดา อยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะลิบง เป็นภูเขาหินปูนความสูงประมาณ 200 เมตร บนเขาจะมีจุดชมวิว สามารถชมทุ่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นอาหารของปลาพะยูน และอาจจะได้เห็นปลาพะยูนมากินหญ้าทะเลได้ และจากเกาะลิบงสามารถมองเห็นทิวทัศน์ที่สวยงามของเกาะเจ้าไหม และแหลมเจ้าไหม

"เกาะไหง"

ที่อยู่ในเขตอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ แต่จัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวในกลุ่มของทะเลตรัง เนื่องจากการเดินทางจากจังหวัดตรังสะดวกมากกว่า หาดทรายบนเกาะขาว น้ำทะเลใส มองเห็นปลาหลายพันธุ์หลากสี รอบเกาะปะการังยังสมบูรณ์ บนเกาะมีที่พักเอกชนบริการหลายแห่ง การเดินทาง สามารถเช่าเรือจากท่าเรือปากเมง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง

"เกาะรอก"

มีพื้นที่ติดจังหวัดกระบี่จัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวทะเลตรัง เนื่องจากเดินทางจากจังหวัดตรัง จะสะดวกกว่าเกาะรอก ประกอบไปด้วย เกาะรอกนอก และเกาะรอกใน ตั้งห่างจากเกาะลันตาเพียง 30 กิโลเมตร และเกาะรอกนอกและเกาะรอกใน ตั้งห่างกันเพียง 100 เมตร ทั้งสองเกาะนับว่า เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา มีน้ำทะเลที่ใสและสวยงาม หาดทรายขาวเนียนละเอียดเหมือนแป้ง เกาะรอก จึงมีชื่อเสียงเรื่องความสวยงาม และน้ำทะเลใสอีกทั้งยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลาเล็กน้อย และปลาการ์ตูน จำนวนมาก

"หาดปากเมง"

เป็นจุดที่ชมพระอาทิตย์ตกดินที่สวยที่สุดจุดหนึ่งของจังหวัดตรัง ตั้งอยู่ที่ตำบลไม้ฝาด เป็นหาดรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวยาวประมาณ 5 กิโลเมตร มีความสวยงามและสงบเงียบ ชายหาดมีป่าสนตามธรรมชาติขึ้น เดินทางโดยรถประจำทางจากตัวเมืองตรัง โดยสารรถตู้ปรับอากาศ สายตรัง-ปากเมง ค่าโดยสารคนละ 60 บาท โดยทางอื่น การเดินทางไปยังหาดปากเมง. ไปตามทางหลวงหมายเลข 4046–4162 (ตรัง-สิเกา-ปากเมง) ระยะทาง 38 กิโลเมตร เมื่อถึงหาดปากเมงเลี้ยวขวาประมาณ 1 กิโลเมตร

เกาะตะเกียง

ป็นเกาะเล็กๆในหมู่เกาะเภตรา ซึ่งอยู่ในอุทยานหมู่เกาะเภตราที่มีความสวยงามตามธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง มีหาดทรายขาวยาวประมาณ 100 เมตร มีแนวปะการังแข็ง ที่สวยงามทั้งยังค่อนข้างสมบูรณ์ อาทิ เช่น ปะการังเขากวาง ปะการังก้อน ปะการังโต๊ะ ซึ่งเป็นที่หลบภัยของปลาสวยงามหลากชนิด น้ำทะเลในบริเวณนี้จะใสมากเพราะตัวเกาะอยู่ห่างจากฝั่งกว่าเกาะอื่นๆ บวกกับฝูงปลาสวยงามมากมายทำให้เกาะตะเกียง เป็นจุดสำหรับการดำน้ำดูปะการังแบบ Snorkeling ที่ดีที่สุดในท้องทะเลตรัง ที่ตั้งของเกาะตะเกียงห่างจากเกาะเหลาเหลียงน้องหรือเกาะหลาวเหลียงน้อง ประมาณ 4 กิโลเมตรไปทางด้านทิศตะวันตก ใช้เวลาเดินทางโดยเรือพาดหางหรือเรือทัวร์ประมาณ 15-20 นาทีเท่านั้น

เกาะเชือกและเกาะม้า

ซึ่งอยู่ห่างจากท่าเรือปากเมงประมาณ 12 กิโลเมตร ทั้ง เกาะเชือก และ เกาะม้า นี้ มีลักษณะเป็นภูผากลางทะเล ไม่มีชายหาดให้ขึ้นไปบนเกาะได้ แต่ความพิเศษของเกาะแห่งนี้ก็คือ เป็นแหล่งปะการังน้ำตื้นที่สมบูรณ์สวยงาม จุดนี้เป็นจุดที่มีกระแสน้ำเชี่ยว การดำน้ำดูปะการังจึงต้องมีเชือกให้คอยเกาะไว้เพื่อป้องกันกระแสน้ำพัดออกไป ไกลจากตัวเรือจนอาจเป็นอันตรายได้ จึงเป็นที่มาของคำว่า เกาะเชือกนั่นเอง

หาดหยงหลิง

เป็นหาดทรายที่มีทิวทัศน์งดงามที่สุดหาดหนึ่ง ของจังหวัดตรัง ผืนทรายที่ขาวละเอียดเนียนนุ่มเท้าเมื่อสัมผัส น้ำทะเลใส ชายหาดเอียงลาดน้อยเล่นน้ำได้ดี ริมหาดร่มรื่นด้วยสนทะเลขนาดใหญ่ที่ขึ้นอยู่หนาแน่น ทางด้านเหนือของหาดมีเขาหยงหลิง เขาหินปูนที่มีรูปทรงแปลกตา ซึ่งมีโพรงถ้ำที่เมื่อน้ำลดสามารถเดินลอดได้ เป็นชายหาดที่เหมาะแก่การพักผ่อน เล่นน้ำ ชมทิวทัศน์ และยังมีมุมมองดีๆให้ถ่ายภาพได้อย่างสวยงาม

อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม

ตั้งอยู่ที่หาดฉางหลาง ห่างจากตัวเมือง 27 กิโลเมตร ตามเส้นทางสาย 4046 ระยะทาง 40 กิโลเมตร และเลี้ยวซ้ายตามถนนเลียบชายหาดอีก 7 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อำเภอกันตังและอำเภอสิเกา มีแหล่งท่องเที่ยวทั้งที่อยู่บนฝั่งและอยู่ในทะเล ประเภทถ้ำ บ่อน้ำร้อน ชายหาด และแหล่งดำน้ำดูปะการัง เป็นต้น

หาดยาว

ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลเกาะลิบง เป็นหาดทรายยาวต่อจากโขดเขารูปกระโดงฉลามขึ้นมาทางด้านเหนือ มีสนทะเลขึ้นเป็นแนวดูสวยงาม มีชายหาดกว้างเหมาะจะเข้าค่ายพักแรม และมีบริการที่พักของเอกชน จากตัวเมืองตรังโดยรถตู้ปรับอากาศสาย ตรัง-หาดยาว ค่าโดยสารคนละ 40 บาท

"ต้นยางพาราต้นแรกของประเทศไทย"

ตั้งอยู่ริมถนนก่อนเข้าสู่ตัวอำเภอกันตัง หน้าสหกรณ์การเกษตรกันตัง เป็นต้นยางรุ่นแรกที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ เจ้าเมืองตรังได้นำมาปลูกไว้เพื่อบุกเบิกอาชีพสวนยางพาราของชาวตรัง เมื่อปี พ.ศ. 2442 การเดินทาง สามารถนั่งรถตู้ตรัง-กันตัง ใช้เวลา 20 นาที ขึ้นรถที่ถนนกันตัง ค่าโดยสารคนละ 25 บาท

"พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี"

อยู่ห่างจากเทศบาลกันตังประมาณ 200 เมตร เป็นที่ตั้งของสถานที่ประวัติศาสตร์ที่สำคัญ คือ "จวนเก่าเจ้าเมืองตรัง" หรือบ้านพักอดีตเจ้าเมืองตรังพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี เป็นเรือนไม้ 2 ชั้น มีรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งและเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของท่านอย่าง ครบถ้วน โดยทายาทตระกูล ณ ระนอง เป็นผู้ดูแลรักษา เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ (ถ้าตรงกับวันหยุดราชการเปิดตามปกติ และหยุดชดเชยในวันต่อไป) เวลา 08.30 -17.00 น. ไม่เสียค่าเข้าชม

"สถานีรถไฟกันตัง"

อยู่ที่อำเภอกันตัง เป็น สถานีสุดท้ายของทางรถไฟสายใต้ฝั่งอันดามัน ออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมคลาสสิกในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นอาคารเรือนไม้แบบปั้นหยาสีเหลืองมัสตาดตัดกับสีน้ำตาล ในสมัยก่อนเคยเป็นท่ารับส่งสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานจากกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ. 2539 อีกด้วย

"ถ้ำเลเขากอบ"

เป็นถ้ำที่มีสายน้ำไหลผ่านและไหลล้อมรอบภูเขาอันเป็นที่ตั้งของถ้ำ ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยที่สวยงามและคงความสมบูรณ์ปรากฏให้เห็นตลอดทาง ระหว่างการนั่งเรือ และตามเวิ้งถ้ำหรือโถงถ้ำต่างๆ ที่สามารถเดินชมได้ อาทิ ถ้ำเจ้าสาว ถ้ำรากไทร ถ้ำคนธรรพ์ เป็นต้น ระยะทาง 4 กิโลเมตร และจุดเด่นของถ้ำเลเขากอบอีกอย่างหนึ่งที่สร้างความตื่นเต้นและประทับใจให้ กับนักท่องเที่ยว ด้วยจะต้องนอนราบขนานไปกับเรือแล้วลอดผ่านส่วนที่มีเพดานถ้ำต่ำที่สุด เรียกว่า ถ้ำลอด กล่าวกันว่าการได้ลอดผ่านจุดนี้เปรียบเสมือนการได้ลอดท้องมังกร การเข้าชมภายในถ้ำ อบต. เขากอบ ได้จัดเรือพายบริการนำเที่ยวชมความงามของถ้ำ ถือเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศของชุมชนในท้องถิ่น ค่าบริการเรือลำละ 300 บาท/5 คน ใช้เวลาในการล่องเรือประมาณ 45 นาที เข้าชมได้ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น.

วังเทพทาโร

อยู่อำเภอ ห้วยยอด ใกล้ กับถ้ำเลเขากอบ เป็นแหล่งเรียนรู้รากไม้เทพทาโรซึ่งเป็นรากไม้หอมเก่าแก่ของไทยและเป็นไม้มงคลเก่าแก่ของภาคใต้ ทางภาคใต้จะเรียกว่า "ไม้จวงหอม" ปัจจุบันต้นเทพทาโรถูกโค่นทิ้งเป็นจำนวนมากเพื่อขยายพื้นที่ไปปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน ฯ เหลือเพียงตอและราก นักท่องเที่ยวที่มาที่วังเทพทาโร สามารถเดินดูสวนไม้เทพทาโรที่จัดทำเป็นรูปร่างๆต่างๆ แบ่งออกเป็นโซนๆ เช่น ลอดท้องมังกร 9 ช่องมหามงคล นอกจากนั้นที่อาคารด้านในยังสามารถเห็นมังกรเทพทาโรที่ใหญ่ที่สุดในโลก และสามารถอุดหนุนงานหัตถกรรมท้องถิ่นที่ทำจากไม้เทพทาโร เป็นที่ถูกใจของชาวต่างประเทศโดยเฉพาะชาวจีนที่มีความเชื่อในเรื่องความ ศักดิ์สิทธิ์ของมังกร

"สวนพฤกษศาสตร์ภาคใต้-ทุ่งค่าย"

เดินทางตามเส้นทางถนนตรัง-ปะเหลียน (ทางหลวงหมายเลข 404) บริเวณกิโลเมตรที่ 11 นับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับผู้สนใจศึกษาธรรมชาติและพรรณไม้ โดยเฉพาะ ภายในสวนพฤกษศาสตร์มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว สวนรุกขชาติ สวนสมุนไพร ห้องสมุดพฤกษศาสตร์ พิพิธภัณฑ์พืช ห้องประชุม พื้นที่สำหรับกางเต้นท์และกิจกรรมค่ายพักแรม เป็นต้น นอกจากนี้มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติให้เลือกหลายเส้นทางโดยรอบ แต่ละเส้นทางจะตัดผ่านป่าดิบที่ลุ่มต่ำ รวมทั้งป่าพรุซึ่งมีพรรณพืชที่น่าสนใจมากมาย ที่สำคัญคือ เส้นทางสะพานศึกษาธรรมชาติเรือนยอดไม้ (Canopy Walk Way) แห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย ประกอบด้วย สะพานเดินชมลักษณะเรือนยอดไม้ จำนวน 3 ระดับ ความสูง 5-20 เมตร

น้ำตกโตนเต๊ะ

เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ ต้นกำเนิดจากเทือกเขาบรรทัด มีน้ำไหลผ่านแอ่งหินตลอดสายเป็นสีขาว สูง 320 เมตร การขึ้นไปชมน้ำตกชั้นบนจะต้องเดินเท้าไปตามเส้นทางระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ตลอดทางเดินร่มรื่นด้วยไม้เบญจพรรณนานาชนิด ส่วนด้านล่างเป็นแอ่งน้ำสามารถว่ายน้ำได้ นอกจากนั้นยังมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติโตนเต๊ะ ตามทางจะมีป้ายสื่อความหมาย 17 จุด ที่บอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติและสิ่งมีชีวิต สามารถเดินเองได้ นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางด้วยรถยนต์ไปจนถึงบริเวณน้ำตกได้ตลอดฤดูกาล การเดินทาง ห่างจากอำเภอเมือง 45 กิโลเมตร ไปตามถนนสายตรัง-พัทลุง ประมาณ 17 กิโลเมตร (บริเวณกิโลเมตรที่ 53) เลี้ยวขวาไปตามเส้นทางบ้านกะช่อง-บ้านหาดเลา (ทางหลวงหมายเลข 4124) ประมาณ 27 กิโลเมตร ถึงปากทางเข้าน้ำตก เลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร

น้ำตกโตนตก

ได้รับการยกย่องว่าสวยงามที่สุดของตรังตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 บ้านควนไม้ดำ เป็นน้ำตกชั้นเดียวที่สายน้ำไหลผ่านชั้นหินลาดชันเล็กน้อยสู่พื้นล่างซึ่ง เป็นแอ่งน้ำตื่นๆ ให้สามารถเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน ในช่วงหน้าฝนจะทำให้เห็นสายน้ำไหลเป็นสายสีขาวดูสวยงามกว่าช่วงเวลาอื่น น้ำตกโตนตก อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด อ.ปะเหลียน ลักษณะของธารน้ำตกที่เป็นหินแกรนิตสลับกับหินปูน เมื่อถูกสายน้ำพัดพากัดกร่อน จึงเกิดเป็นริ้วลายที่สวยงามแปลกตาจากบริเวณน้ำตกโตนตกยังมองเห็นน้ำตกโตน เตะซึ่งเป็นน้ำตกที่สูงที่สุดในจังหวัดตรัง อยู่ห่างออกไปประมา1 กิโลเมตรตามเส้นทางเดินเท้า แต่ถ้าหากต้องการขึ้นไปควรมีเจ้าหน้าที่นำทางน้ำตกโตนตกได้ชื่อว่าราชินี แห่งน้ำตกของจังหวัดตรัง

บ่อหินฟาร์มสเตย์

เป็นกิจกรรมด้านการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชัง บ้านพรุจูดเน้นการเรียนรู้ สัมผัสวิถีชีวิตชุมชน และทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของจังหวัดตรัง เกิดจากการรวมตัวของชุมชนเพื่อใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และเพื่อสร้างอาชีพเสริมให้กับชาวบ้าน เริ่มต้นจากการพัฒนาที่พักอาศัยให้เป็นโฮมสเตย์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวได้เข้ามาเรียนรู้วิธีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การบริการอาหารทะเลสด ๆ ที่ได้จากการประมงและกระชังเลี้ยงปลา ตลอดจนการนำเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติในป่าชายเลนและชายฝั่งทะเลชาวบ้านพรุจูดส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการทำสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน และอาชีพด้านการประมง เช่น การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง การทำประมงพื้นบ้าน

หอนาฬิกา

ทรงสี่เหลี่ยมแนวตั้ง มีอายุกว่า 50 ปีมาแล้ว มีการติดไฟประดับสลับสีกันทุกๆ 10 วินาที สร้างความสวยงามแปลกตาให้กับนักท่องเที่ยวได้มาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกันอีก จุดหนึ่ง

ถนนคนเดิน

หน้าสถานีรถไฟจังหวัดตรัง ที่นี่เราจะได้เห็นวิถีชีวิตชาวตรัง ชิมขนมพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง สินค้าที่ระลึก และงานฝีมือ บางทีท่านอาจจะได้ชมเด็กๆ แสดงดนตรีเปิดหมวก ร้องเล่นเต้นรำทำเพลง เป็นการสัมผัสสีสันยามค่ำคืนอีกมุมหนึ่งของเมืองตรัง เปิดเฉพาะศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ เวลา 17.30-22.00 น. เท่านั้น

ตึกเก่าเมืองตรัง

ตั้งอยู่กระจายลัดเลาะเรื่อยๆ ในตัวเมืองตรัง ตามถนน ถ. ราชดำเนิน ถ. กันตัง และ ถ. พระรามหก จะพบ เห็นตึกเก่าซ่อนตัวอยู่เป็นระยะลักษณะของตึกจะเป็นตึกในรูปแบบชิโนโปรตุกิส คล้ายกับเมืองภูเก็ต แต่อาจมีไม่เยอะเท่า เจ้าของ อาคารเก่าเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากรับจ้างเป็นกุลี เป็นช่าง หรือทำการค้าอยู่ตามท่าเรือ วัฒนธรรมจีน ซึ่งหลั่ง ไหลมากับชาวจีนที่มาตั้งรกรากที่นี่จึงฝังตัวกลมกลืนกลายเป็นวัฒนธรรมแบบชาว ตรังที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เดิมเข้าใจว่าอาคาร เหล่านี้คงมีหลายหลังต่อเนื่องกันแต่ต่อมามีการรื้อออกและสร้างเป็นอาคาร สมัยใหม่แทรกอยู่ ปัจจุบันจึงเหลืออาคารรูปทรงเก่า กระจายกันอยู่ทั่วไป เช่น ใน ย่านตลาดสด และย่านการค้าใกล้กับสถานีรถไฟ หอนาฬิกาตรัง ซึ่งสามารถเดินชมเมืองได้แต่ เช้าโดยเริ่มจากโปรแกรมอาหารพื้นเมืองของตรังที่ขึ้น เช่น ติ่มซำ ขนมจีบ ซาลาเปา ฮะเก๋า ปาท่องโก๋ ฯลฯ กับกาแฟ ชาร้อนๆ หรือจะเป็นหมูย่างกับกาแฟร้อนเป็นมื้อเช้าอย่างคนตรังขนานแท้

ถ้ำเขาช้างหาย อำเภอนาโยง จ.ตรัง

ตั้งอยู่หมู่ที่ 5-6 ตำบลนาหมื่นศรีเป็นถ้ำที่มีหินงอกหินย้อยแบบต่างๆ ที่สวยงามสลับซับซ้อนอยู่เป็นจำนวนมาก ถ้ำลึกประมาณ 500 เมตร ใช้เวลาเดินชมประมาณ 20 นาที มีทางเดินคอนกรีตพร้อมทั้งติดไฟตามเส้นทางให้เดินได้อย่างสะดวก สำหรับเดินไปยังถ้ำต่างๆ เช่น ถ้ำช้างหาย ถ้ำเพกา ถ้ำทรายทอง ถ้ำโอง และถ้ำแม่เฒ่าคล้าย ถ้ำนี้เปิดให้เข้าชมวันเสาร์-อาทิตย์ สำหรับวันธรรมดาจะต้องติดต่อฝ่ายนำเที่ยว เพื่อให้เจ้าหน้าที่มาเปิดประตูถ้ำและไป สอบถามข้อมูลได้ที่ โทร. 0 7529 9551

โบสถ์คริสต์เก่าแก

อายุเกือบร้อยปี ที่คริสตจักรตรัง สร้างขึ้นในปี 1915 มีอักษรจารึกไว้เหนือบันไดทางเข้าข้างหน้าว่า. "วิหารคริสตศาสนา สร้าง ค.ศ. 1915" แต่เดิมนั้นหอระฆังเป็นเพียงดาดฟ้า มีลักษณะคล้ายกับป้อมทหารสมัยโบราณ หลังจากนั้นมีปรับปรุงใหม่ เนื่องจากระฆังที่อยู่ในหอระฆังชั้นที่สอง ดังก้องมากเกินไป จึงเพิ่มชั้นบนขึ้นเช่นที่เห็นในปัจจุบัน

วนอุทยานบ่อน้ำร้อนกันตัง

อยู่ในท้องที่บ้านควนแคง หมู่ที่ 7 ตำบลบ่อน้ำร้อน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาหวาง ป่าควนแคง และป่าน้ำราบ มีเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ ซึ่งกรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยาน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2549

เขาปินะ

ภูเขาลูกนี้ภายในกลวงจนถึงยอดเขา มีลักษณะคล้ายกะทะคว่ำ ตรงเชิงเขาเป็นที่ตั้งของวัดปินะ มีบันไดขึ้นไปชมถ้ำ ซึ่งมีอยู่หลายชั้นและชมทิวทัศน์รอบ ๆ เขาได้ บริเวณทางเข้าถ้ำมีพระพุทธไสยาสน์ประดิษฐานอยู่

ศาลหลักเมือง

ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ตำบลตวนธานี อำเภอกันตัง สถานที่ตั้งตรงจุดนี้อยู่บริเวณที่ตั้งเมืองเก่า เป็นศาลหลักเมืองเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ มีวิญญาณอภิบาลเป็นสตรีจึงเรียกกันว่าศาลเจ้าแม่หลักเมือง เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวตรังทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการมีบุตรยากมักจะมาอธิษฐานขอกับบุตรกับเจ้าแม่หลักเมือง เสมอ

วัดภูเขาทอง จ. ตรัง

ซึ่งมีพระพุทธรูปทรงเทริดมโนราห์... มีพระอุโบสถอัน งดงาม..ที่ทางวัดภูเขาทองพร้อมด้วยอุบาสก อุบาสิการ่วมกันจัดสร้างขึ้น เพื่อเทิดพระเกียรติและเพื่อเป็นศิริมงคล ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 ..ด้านบนของพระอุโบสถ.. ทำเป็นเจดีย์ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำวัน และขออนุญาตอัญเชิญตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 ประดิษฐานที่ฐานพระปางสีหไสยาสน์ ซึ่งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ และพระนาคปรกซึ่งอยู่ด้านหลัง

ศาลเจ้าท่ามก๋งเยี่ย

หรือชาวบ้านเรียกว่าโรงพระท่ามกงเยี่ย นับเป็นศูนย์รวมจิตใจของพี่น้องชาวเมืองตรังเป็นสิ่งที่ชาวตรังส่วนใหญ่ให้ ความเคารพและนับถืออย่างสูง เมื่อมาถึงยังตัวเมืองตรัง เมืองไทย.คอม ก็ไม่พลาดที่จะมาแวะไหว้และสักการะ ณ ศาลเจ้าท่ามก๋งเยี่ย เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและที่สำคัญชาวบ้านในระแวกนี้เขากระซิบบอก เมืองไทย.คอม ว่าเสี่ยงเซียมซีที่นี้แม่นมากครับ

เขาพระยอด

ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ ตำบลห้วยยอด อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง อยู่ห่างจากตัวอำเภห้วยยอด ประมาณ ๑ กิโลเมตร ไปตามทางถนนเพชรเกษม ตรัง -กระบี่ เป็นภูเขาที่มีลักษณะ คล้ายช้างหมอนชาวบ้านจึงเรียกว่า เขาช้างซุ่ม บนยอดเขา เป็นจุดชมวิว ทิวทัศน์ มีเจดีย์บัวเงินบัวทองซึ่งเป็นที่เคารพ สักการะ ของนักท่องเที่ยวทั่วไป ปัจจุบันที่ภูเขาพระยอด ยังเป็นสถานปฏิบัติธรรมที่เพิ่งจัดสร้างขึ้นใหม่ราวปี พ.ศ. 2545 ทำให้มีประชาชนและนักท่องเที่ยว ทั้งใน จ.ตรัง จากต่างจังหวัด หรือจากต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย จีน ไต้หวัน เดินทางมายังสถานที่แห่งนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงวันหยุด และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

 

ของกิน ของฝาก จังหวัดตรัง

ร้านกาแฟ

เมืองตรัง เมืองคนช่างกิน ถนนทุกสายในเมืองตรังมีร้านกาแฟเปิดบริการอยู่แทบทุกสาย บางร้านเปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง ร้านกาแฟที่เมืองตรังนี้ การบริการจัดว่าพิเศษกว่าที่อื่นอยู่มากๆ คือ มีบริการขนมกับแกล้ม ซึ่งเรียกว่า "เครื่องเคียง" นับสิบๆ อย่างมาให้ลิ้มลองตั้งแต่ ขนมจีบ ซาลาเปา ขนมประเภทนึ่ง ทอดร้อนๆ เช่น ปาท่องโก๋ จาก๊วย(หรือที่เรียกปาท่องโก๋) ซึ่งบางร้านอาจจะมี หมูย่าง สูตรชาวตรังให้ลิ้มลอง เป็นรายการ พิเศษอีกบรรดาอาหารเครื่องเคียงที่พนักงานเสริฟ ยกมาให้จนเต็มโต๊ะนั้น จะคิดราคาเท่าที่กินเท่านั้น เรียกว่ากินกี่ชิ้นกี่อย่างก็คิดราคาตามนั้น

หมูย่างสูตรเมืองตรัง

อาหาร อร่อยที่เชิดหน้าชูตาของชาวตรังอีกอย่างหนึ่ง ที่หลายๆ คนรู้จักกันดี หนังกรอบเนื้อหอมนุ่ม รสชาติอร่อยมีกรรมวิธีหมัก ใส่เครื่องปรุงตลอดจนถึงการคัดเลือกหมูเพื่อมา ย่าง อย่างพิถีพิถันหมูย่างนี้นอกจากใช้แกล้มกาแฟแล้ว ยังใช้ขึ้นโต๊ะไม่ว่างาน แต่งงาน งานตรุษสารท งานเลี้ยงต่างๆ แม้แต่งานศพและพิธีเซ่นไหว้ทั้งหลาย เป็นของฝากอิ่มท้องของฝากนี้มีข้อแม้ ว่าต้องนำไปฝากให้ถึงมือภายในครึ่งวัน มิฉะนั้นจะคลายร้อนเสียอรรถรส ทางที่ดีให้ชักชวนกันมารับประทานที่ร้านจะ เข้าทีได้รสดีกว่ากันเยอะ รับรองไม่ผิดหวังสูตรเมืองตรังเป็นหนึ่งแน่แท้

เค้กเมืองตรัง

เป็น ขนมที่ทำมากันแต่ดั้งเดิม ต้นกำเนิดอยู่ที่ ต.ลำภูรา อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ซึ่งเป็นที่ขึ้นชื่อลือชาไปทั่วประเทศ ด้วยรสหอมหวานกลมกล่อมอย่างมีเอกลักษณ์ มีหลายรสหลายกลิ่นหลายเจ้าให้เลือกได้ ตามใจชอบบรรจุกล่องสวยงาม ซึ่งมีหลากหลายรส เช่น เค้กใบเตย เค้กกล้วยหอม เค้กส้ม เค้กกาแฟ เค้กสามรส สามารถหาซื้อได้ที่ลำภูรา หรือในตัวเมืองก็มีขาย ราคาประมาณเป็นกันเอง

กาแฟเขาช่อง

กาแฟแท้ปลูกในถิ่นตรังในตำบลเขาช่องซื้อหาที่นี่รับรองของแท้ กลิ่นหอม รสดี แน่นอนบรรจุในขวดเล็ก ใหญ่เลือกได้หลายขนาด

บ้านขนมป้าพิณ (ลำภูรา) จังหวัดตรัง

จุดเริ่มต้นปี 2540 ยุคฟองสบู่ ร้านขนมจีบสังขยาป้าพิณ (ลำภูรา) จังหวัดตรัง เริ่มต้นอย่างเป็นทางการ 19 มีนาคม 2546 โดยนางพิณ นํ้าเยื้อง (ป้าพิณเป็นผู้ดำเนินการ) ป้าพิณเริ่มทำขนมจีบสังขยาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ซึ่งในขณะนั้นบ้านเมืองอยู่ในยุคที่เรียกว่า "ยุคฟองสบู่"ราคาพืชผลทางการเกษตรตกตํ่า จะพึ่งพาเฉพาะสวนยางพาราที่มีก็คิดว่าน่าจะลำบาก จึงได้ปรึกษากับบุตรชาย (นายณัฐวัตร ตันศิริเสถียร) ว่าจะทำอะไรที่จะทำให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น ในตอนนั้นขนมตรังที่ดังที่สุดคือเค้กตรัง หมูย่างตรัง ลำภูรามีแต่เค้กกับหมูย่าง แท้จริงยังมีขนมอีกมากมาย เช่นขนมเต้าส้อ ขนมจีบสังขยา ซึ่งป้าพิณคุ้นเคยและได้ยินมาตั้งแต่เด็กจากการบอกเล่าของคุณยายส้มของป้า พิณคือ(คุณยายส้ม จิตพิทักษ์) คุณยายส้มอยู่ที่ปีนังประเทศมาเลเซีย จากวันนั้นถึงวันนี้กว่า 17 ปี ที่ป้าพิณได้รักษาและพัฒนาขนมจีบสังขยาเมืองตรังมาอย่างต่อเนื่องโดยยึดหลัก "ทำให้ดีที่สุด ใช้วัตถุดิบที่ดีที่สุดและควบคุมคุณภาพให้คงที่สมํ่าเสมอ" ทุกคนที่ได้รับประทานขนมจีบสังขยาป้าพิณ ลำภูรา จะได้รับประทานอย่างมีความสุขและสบายใจเมื่อซื้อเป็นของฝาก วันนี้ถึงแม้ขนมจีบสังขยาเมืองตรังยังไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมาก นัก แต่ป้าพิณและทุกคนที่มีส่วนร่วมจะร่วมมือร่วมใจกันทำให้ขนมจีบสังขยาเมือง ตรัง ป้าพิณ ลำภูรา เป็นที่รู้จักของคนไทยและคนต่างประเทศ และเป็นขนมอีกชนิดหนึ่งที่ผู้มาเยือนเมืองตรังต้องนึกถึง ขนมจีบสังขยาเมืองตรัง ป้าพิณลำภูรา "ซื้อกินถูกปาก ซื้อฝากถูกใจ " "สุขใจทั้งผู้ให้ สบายใจทั้งผู้รับ" มาเยือนเมืองตรังครั้งใดอย่าลืมแวะไปบ้านขนมป้าพิณป้าพิณ ลำภูรา

เค้กเบญมิตร

เค้กเนื้อนุ่มแสนอร่อย นุ่มลิ้น ทานกี่ครั้งก็ยังเหมือนเดิม เมนูเด็ด เค้กวานิลาแยม เค้กในจังหวัดตรังมีมากมายหลายร้าน แต่ถ้าให้อร่อยแบบแตกต่างต้องร้านนี้ค่ะ
- เค้กเป็นเค้ก2สี เนื้อนุ่ม มี2ใส้ ครีมกับแยม
- เค้กเนื้อนุ่ม 2ชิ้นประกบกัน
- รสชาติคงที่ ไม่ว่าทานกี่ครั้ง
- ขายดีมาก จนหมดเร็ว บางคนแอบเรียกว่าร้านเค้กหมด เพราะถ้าไม่จองก่อนบางครั้งอาจไม่ได้ทาน
ร้านอยู่ใกล้ๆ สถานีรถไฟ ถนนวังตอ เป็นเค้กชิ้นแบบไม่มีรูตามต้นฉบับเค้กตรัง และตรงกลางมีแยมหรือครีม ซึ่งความอร่อยก็ยังคงเดิม นุ่ม ไม่หวานมาก อารมณ์ประมาณทานชิฟฟ่อน เหมาะสำหรับทานคู่กับเครื่องดื่มเย็นๆ

ขนมเปี๊ยะซอย 9

เป็นร้านขนมต้นตำรับ ขึ้นชื่อความอร่อยในจังหวัดตรัง มีสินค้าขนมและของฝากมากมายให้ได้เลือกสรร
ที่ตั้ง : 229/46 ซอย 9 ห้วยยอด ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง ตรัง 92000
โทรศัพท์ : 075222734,0894746892,0836902754
วันเวลาเปิด-ปิด : ทำการทุกวัน เวลา 08:00-17:00
การเดินทาง : ห้วยยอดซอย 9 เดินเลี้ยวเข้าซอยไปเลย ประมาณ 100 เมตรซ้ายมือจะเจอร้าน ขนมเปี๊ยะซอย 9
แนะนำ : ขนมเปี๊ยะไส้เผือกหอมไข่เค็ม, ขนมเปี๊ยะไส้ทุเรียนไข่เค็ม, ขนมเปี๊ยะไส้ถั่วแดงไข่เค็ม, ขนมเปี๊ยะไส้พุทธาจีนไข่เค็ม, ขนมเปี๊ยะไส้ชาเขียวไข่เค็ม, ขนมเปี๊ยะไส้เม็ดบัว, ขนมเปี๊ยะไส้งาดำ, ขนมเปี๊ยะแปะก๊วย

กะปิท่าข้าม

กะปิ ดังแห่งบ้านหยงสตาร์ตำบลท่าข้าม อำเภอปะเหลียน ทำจากกุ้งตัวเล็ก ๆ ที่ชาวบ้านเรียกว่า "ตัวเคย"ใช้เป็นเครื่องปรุงประกอบอาหารหรือตำน้ำพริกก็อร่อยไม่แพ้กัน

ผ้าทอนาหมื่นศรี

ผ้าทอชั้นดีของเมืองตรังทำจากด้ายและไหมถักทอด้วยกี่กระตุกแบบพื้นบ้าน มีลวดลายสีสันต่างๆ อีกทั้งสามารถประดิษฐ์เป็นตัวอักษรตามต้องการ ใช้เป็นผ้าตัดเสื้อผ้าเช็ด หน้าผ้าปูโต๊ะแล้วแต่จะดัดแปลง

ใบอนุญาตการท่องเที่ยว

 follow us


พยากรณ์อากาศกรมอุตุนิยม

บริการรถเช่า

บริการรถเช่า 990/วัน